วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

พระเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราช



พระเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราช

ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง
   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเจ้าจอมมารดาจุ้ย ประสูติเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๓ ทรงถือครองสมณเพศตั้งแต่พระชนมายุ ๑๒ พรรษา และได้ดำรงตำแหน่งพระราชาคณะ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔
   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีพระปรีชาในการนิพนธ์วรรณกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ดังนั้น ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก

ลักษณะคำประพันธ์
   ร่ายยาว
เรื่องย่อ
   หลังจากชูชกได้ขอพระชาลีและพระกัณหาจากพระเวสสันดรมาแล้วก็เกิดหลงทางเข้าไปยังเมืองสีพี พระเจ้ากรุงสญชัยเห็นกุมารทั้งสองก็จำได้ว่าเป็นพระราชนัดดาจึงไถ่ตัวทั้งสองพระองค์คืน และโปรดให้แต่งทัพไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีคืนสู่พระนคร

สาระน่ารู้
   ทศชาติชาดก
   ทศชาติชาดก คือ การบำเพ็ญบารมียิ่งใหญ่ในช่วง ๑๐ ชาติก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่
   ๑. พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมบารมี คือ การออกบวช
   ๒. พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความเพียร
   ๓. พระสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ เมตตา
   ๔. พระเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่น
   ๕. พระมโหสถ ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ปัญญา
   ๖. พระภูริทัต ทรงบำเพ็ญ ศีลบารมี คือ ศีล
   ๗. พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดทน
   ๘. พระนารทพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การวางเฉย
   ๙. พระวิธุรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจบารมี คือ ความซื่อตรง
   ๑๐. พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี คือ การให้

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ๑. ผู้ที่ประพฤติกรรมดีก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดีงามเสมอ ในขณะที่ผู้ประพฤติตัวชั่วก็จะได้รับผลตอบแทนที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน
   ๒. เด็กที่มีปัญญาและคุณธรรมย่อมสมควรได้รับการยกย่องจากผู้ใหญ่
   ๓. การบำเพ็ญความดีทางโลกิยะเป็นกิจที่ทุกคนพึงทำได้ ส่วนการบำเพ็ญความดีทางโลกุตระ ผู้มีคุณธรรมสูงและมีความตั้งใจจริงเท่านั้นจึงจะสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้


วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง มัทนะพาธา



บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง มัทนะพาธา


ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง
   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้จัดตั้งวรรณคดีสโมสร อีกทั้งทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีต่าง ๆ มากมาย จนได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘  
ลักษณะคำประพันธ์
   ฉันท์ชนิดต่าง ๆ

เรื่องย่อ
   สุเทษณ์เทพบุตรหลงรักนางฟ้าชื่อมัทนา แต่นางไม่รักตอบ สุเทษณ์จึงสาปให้นางไปเกิดเป็นดอกกุหลาบในป่าหิมวัน เมื่อถึงวันเพ็ญกลางเดือนจะสามารถกลับเป็นหญิงได้ ๑ วัน ๑ คืน และหากเกิดความรักกับชายใดจะได้กลายเป็นหญิงตลอดไป แต่จะต้องได้รับความทุกข์จากความรักนั้น และมาวอนขอความช่วยเหลือจากตน
สาระน่ารู้
ความรู้เกี่ยวกับฉันท์
   เรื่องมัทนะพาธา เป็นบทละครพูดที่แต่งด้วยฉันท์ทั้งหมด ซึ่งแต่งได้ยากเพราะคำในภาษาไทยหาคำที่ลงเสียงหนักเบาตามคณะและพยางค์ของฉันท์ไม่ค่อยพบ แต่ในเรื่องมัทนะพาธา กลับพบว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ได้อย่างเคร่งครัดในฉันทลักษณ์
   ฉันท์ชนิดต่าง ๆ ที่พบในเรื่องมัทนะพาธา เช่น วิชชุมมาลาฉันท์ ๘ สัททุลวิกีฬิตฉันท์ ๑๙ สาลินีฉันท์ ๑๑ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ อินทวงศ์ฉันท์ ๑๒ จิตรปทาฉันท์ ๘ กมลฉันท์ ๑๒    อุปชาติฉันท์ ๑๑
ตัวละคร
   ๑. สุเทษณ์ เป็นคนเห็นแก่ตัว ตนเองมีฐานะสูงส่ง แต่กลับบังคับจิตใจฝ่ายหญิงให้มารักทั้งที่ไม่ยินยอม ส่งผลให้ตนเองต้องเป็นทุกข์เพราะความรัก
   ๒. มัทนา เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์และมั่นคงในความรัก มีมุมมองในเรื่องความรักว่าต้องเกิดจากทั้งสองฝ่าย แม้จะนำมาซึ่งความทุกข์ก็ตาม

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ความรักมีทั้งความสมหวังและความผิดหวัง ดังนั้นคนเราจึงควรจะรักอย่างมีสติ ไม่ปล่อยให้ความรักบ่อนทำลายตัวเราเองและทำลายคนที่เรารัก


วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

ลิลิตตะเลงพ่าย



ลิลิตตะเลงพ่าย




ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง
   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๓ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเจ้าจอมมารดาจุ้ย
   ใน พ.ศ. ๒๓๕๓ ได้อุปสมบทตลอดพระชนม์ชีพ ณ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกที่ได้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ นอกจากนี้ยังทรงเป็นพระอาจารย์ของเจ้านายหลายพระองค์ เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ รวมพระชนมายุ ๖๓ พรรษา
ลักษณะคำประพันธ์
   ลิลิต

เรื่องย่อ
   หลังจากที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาแต่งทัพไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงทราบก็ทรงกรีธาทัพไปจนถึงหนองสาหร่าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรัสท้าพระมหาอุปราชาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีและทรงมีชัย ส่งผลให้กองทัพพม่าแตกพ่ายต้องล่าถอยกลับกรุงหงสาวดีไป
   เมื่อยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดเกล้าฯ ปูนบำเหน็จแก่ช้างพระที่นั่งและทหารที่ตามเสด็จ และรับสั่งลงโทษแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทัน โดยมีพระบรมราชโองการให้ไปตีเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริดเป็นการแก้ตัว

สาระน่ารู้
เส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา
   สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเดินทัพจากกรุงศรีอยุธยาผ่านไปทางปากโมก บ้านสระแก้ว บ้านสระหล้า จนถึงตำบลหนองสาหร่าย ส่วนพระมหาอุปราชาทรงนำทัพเดินทางจากเมืองหงสาวดี มุ่งหน้าเข้าสู่เขตไทยที่ด่านเจดีย์สามองค์ จากนั้นเสด็จไปตามลำน้ำกระเพิน และประทับแรมที่เมืองกาญจนบุรี


สมเด็จพระนเรศวรทราบข่าวเตรียมทัพสู้ศึกพม่า
   เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงทราบข่าวศึกพม่า ก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทัพของหัวเมืองต่าง ๆ ยกไปขัดตาทัพรับหน้าข้าศึกที่ตำบลหนองสาหร่าย โดยใช้อุบายเข้าโจมตีแล้วล่าถอยเพื่อให้ข้าศึกติดตาม จากนั้นพระองค์ทั้งสองจะทรงยกทัพไปตีขนาบข้าศึกไว้

พิธีกรรมเกี่ยวกับการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้แก่แม่ทัพนายกองและทหารหาญ
   ก่อนออกทำศึก สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงให้ผู้ชำนาญไสยศาสตร์ทำพิธีละว้าเซ่นไก่ เพื่อเป็นการบวงสรวงเทวดา และพิธีตัดไม้ข่มนาม โดยนำไม้ที่มีชื่อพ้องกับข้าศึกพร้อมรูปปั้นและชื่อข้าศึกมาเข้าพิธี จากนั้นให้ผู้แทนพระองค์นำพระแสงดาบไปฟันไม้ รูปปั้น และชื่อข้าศึก และผู้แทนจะกลับมาทูลพระองค์ว่าตนไปปราบศัตรูข้าศึกเรียบร้อยแล้ว

ตัวละคร
   ๑. พระมหาอุปราชา เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ แต่ก็มีความกตัญญู ทรงใช้ขัตติยมานะในการยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาและกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนขาดคอช้าง
   ๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง มีพระปรีชาสามารถในการรบ และยังทรงมีน้ำพระทัยต่อทหารนายกองเมื่อทรงมีชัยแก่ข้าศึกแล้ว
   ๓. สมเด็จพระวันรัต เป็นพระสงฆ์ที่มีวาทศิลป์สามารถพูดเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชคลายกริ้วเหล่าแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จทันได้

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ๑. ผู้นำควรมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และแสดงออกอย่างเหมาะสม
   ๒. บิดาเป็นผู้มีพระคุณ เราจึงควรมีความกตัญญูและตอบแทนเมื่อมีโอกาส
   ๓. คนเราควรมีความรักในศักดิ์ศรี
   ๔. คนเราควรรู้จักการให้อภัย

คำสำคัญ ลิลิตตะเลงพ่าย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ลิลิต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหาอุปราชา 


วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

คำไวพจน์



คำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน แต่ใช้ในบริบทต่าง ๆ กัน หรือเรียกอีกอย่างว่า คำพ้องความ ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2552 ให้คำอธิบายว่า "คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก เช่น มนุษย์ กับ คน บ้าน กับ เรือน รอ กับ คอย ป่า กับ ดง คำพ้องความ ก็ว่า"
       ตัวอย่าง


 พระเจ้าแผ่นดิน

          กษัตริย์   ขัตติยะ  เจ้าชีวิต   บพิตร   ปิ่นเกล้า  ผ่านเผ้า  พระภูบาล ภูวดล





   ผู้หญิง

          กนิษฐ์ กนิษฐา กระลาพิน กระลาศรี กัญญา กันยา กัลยาณี กานดา กามินี





     ดอกไม้

          กรรณิกา กุสุม โกสุม กุสุมาลย์ บุปผา บุปผชาติ บุษบง ผกา พบู พวงมาลา






       แม่น้ำ

          กระสินธ์ คงคา ชลชาติ ชลธาร ชลาลัย ชลาศัย ชเล ชโลทร ธารา นที






     พระจันทร์
          แข โค จันทร์ จันทร จันทรพิมพ์ จันทรมณฑล เดือน ตโมนุท ตโมทร


เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา



เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

ลักษณะคำประพันธ์
   กลอนเสภา
เรื่องย่อ
   พลายงามต้องการให้นางวันทองผู้เป็นแม่กลับมาอาศัยอยู่กับตนและขุนแผน จึงเข้าไปลักพาตัวนางวันทองออกมาจากเรือนขุนช้าง โดยวางอุบายให้หมื่นวิเศษผลไปแจ้งแก่ขุนช้างตอนรุ่งเช้าว่าตนไม่สบาย จึงต้องให้คนไปรับมาดูใจ ครั้นพอขุนช้างทราบเรื่องก็เกิดความโกรธเคือง จัดแจงเขียนฎีกาฟ้องร้องแก่สมเด็จพระพันวษาให้ช่วยตัดสินความ สมเด็จพระพันวษาจึงทรงเรียกนางวันทองมาเข้าเฝ้าและให้ตัดสินใจเลือกว่าตนจะอยู่กับใคร แต่เนื่องจากนางวันทองต้องการรักษาน้ำใจคนทุกฝ่ายจึงไม่กล้าตัดสินใจ สมเด็จพระพันวษากริ้วเพราะเข้าใจว่านางวันทองเป็นคนสองใจ จึงรับสั่งให้นำตัวนางวันทองไปประหาร

สาระน่ารู้
เสภา 
   เสภา คือ การขับลำนำเรื่องยาวด้วยจังหวะและดนตรี ซึ่งผู้ขับเสภาจะขับลำนำไปเรื่อย ๆ เพื่อพรรณนาอารมณ์ โดยใช้กรับให้กระทบกันเพื่อประกอบจังหวะ
   ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น การขับเสภาจะใช้ผู้ขับเสภาสองคนโต้ตอบกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้นำปี่พาทย์เข้ามาประกอบ เพราะทรงเห็นว่าคนขับเสภาเหนื่อยมาก ส่งผลให้หลังจากนั้นการขับเสภาก็นิยมใช้ผู้ขับเสภาคนเดียว
   ทั้งนี้ เสภาที่ใช้ขับมีหลายเรื่อง เช่น เสภาพระราชพงศาวดารของสุนทรภู่ เสภาเรื่องอาบูหะซัน เสภาเรื่องสามัคคีเสวก แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน 

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ๑. ผู้เป็นลูกควรมีความกตัญญูกตเวที
   ๒. เราควรรักผู้อื่นอย่างจริงใจและหวังดีต่อกัน ไม่ครอบครองให้คนรักอยู่กับเราเพียงผู้เดียว
   ๓. ผู้ที่เป็นสามีควรมีความรับผิดชอบโดยการเลี้ยงดูภรรยาและลูกให้อยู่ดีมีสุข
   ๔. เราควรรอบคอบและยั้งคิดในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะหากไม่ไตร่ตรองให้ดีก็อาจก่อให้เกิดผลเสีย


วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561

กาพย์ยานี 11 เรื่อง เรียงร้อยถ้อยคำเป็นคำกลอน



กาพย์ยานี 11 เรื่อง เรียงร้อยถ้อยคำเป็นคำกลอน



     ข้อบังคับในการแต่งกาพย์ยานี 11
        1.กาพย์ยานี 11 หนึ่งบทมี 2 บาท บาทเอกและบาทโท
          บาทหนึ่งแบ่งเป็น 2 วรรค วรรคหน้ามี 5 วรรคหลังมี 6
       2.การสัมผัสบังคับ หรือสัมผัสนอก จะเป็นสัมผัสสระเท่านั้น แบ่งเป็น 2 ชนิด
          (1) สัมผัสระหว่างวรรค ได้แก่ คำสุดท้ายวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ 1 หรือคำที่ 2,3 ของวรรคที่สอง คำสุดท้ายของวรรคที่สองส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายของวรรคที่สาม
          (2) สัมผัสระหว่างบท ได้แก่ คำสุดท้ายของบทแรกส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่สองในบทต่อไป

วรรณคดีและวรรณกรรม


วรรณคดีและวรรณกรรม



ความหมายของวรรณคดีและวรรณกรรม
          วรรณคดี คือ  งานเขียนที่แต่งดี 
          วรรณกรรม คือ งานเขียนทุกชนิด โดยวรรณกรรมจะเป็นวรรณคดี  ก็ต่อเมื่อวรรณกรรมนั้นได้รับการยกย่องว่าแต่งดีและมีคุณค่า

คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม
          วรรณคดีและวรรณกรรมมีคุณค่า ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ ภาษา สังคมและวัฒนธรรม

ประเภทของวรรณคดีและวรรณกรรม
          ๑.  จำแนกตามลักษณะการแต่ง คือ ร้อยแก้วและร้อยกรอง
          ๒.  จำแนกตามจุดมุ่งหมายในการแต่ง คือ มุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านเป็นหลัก และมุ่งให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
          ๓.   จำแนกตามลักษณะการบันทึก คือ วรรณคดีที่บันทึกเป็นลายลักษณ์ และไม่ได้บันทึกเป็น        ลายลักษณ์

ศิลปะการประพันธ์ในวรรณคดีและวรรณกรรมไทย
          ๑. การเล่นเสียง คือ การใช้คำที่มีเสียงเหมือนกันมาเรียงคำต่อกัน ให้เกิดความไพเราะ มีทั้งการเล่นเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์
          ๒. การเล่นคำ คือ การใช้คำที่คำพ้อง มาเรียงต่อกันให้เกิดความหมายแตกต่างไปตามบริบท
                    ๒.๑ การเล่นคำพ้อง คือ การนำคำพ้องเสียง หรือรูป มาเรียงต่อกันมีความหมายแตกต่างไปตามบริบท
                    ๒.๒ การเล่นคำซ้ำ คือ การซ้ำคำเดิมเพื่อเน้นความหมายของคำให้ชัดเจนและหนักแน่นขึ้น        
          ๓. การใช้ภาพพจน์ คือ การใช้คำที่แปลกออกไปจากปกติ เพื่อให้ผู้อ่านคิดและจินตนาการตาม
                    ๓.๑ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง(อุปมา) - เหมือน คล้าย เท่า ดุจ ดัง กล เพียง ราว
                    ๓.๒ การเปรียบลักษณะที่เหมือนกันทั้งหมดของสิ่งสองสิ่งต่างจำพวกกัน (อุปลักษณ์) – เป็น คือ
                    ๓.๓ การสมมติสิ่งไม่มีชีวิตให้มีอาการ กิริยา ความรู้สึกเหมือนคน (บุคคลวัติ/บุคคลสมมติ)
                    ๓.๔ การเลียนเสียงธรรมชาติ คือ การใช้คำเลียนเสียงต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เสียงของมนุษย์

เนื้อหาของวรรณคดี
          ๑. วรรณคดีพุทธศาสนา เกี่ยวกับหลักคำสอน บาปบุญคุณโทษ
          ๒. วรรณคดีสุภาษิตคำสอน มุ่งแสดงแนวทางการปฏิบัติ
          ๓. วรรณคดีเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรม เป็นบทสวดใช้ภาษาทำให้เกิดความขลัง
          ๔. วรรณคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นโดยสอดแทรกจินตนาการ
          ๕. วรรณคดีเพื่อความบันเทิง เกี่ยวกับความบันเทิง เพื่อใช้ในงานมหรสพ
          ๖. วรรณคดีบันทึกความรู้สึกของผู้เดินทาง มุ่งบันทึกความรู้สึกหรือเหตุการณ์ขณะเดินทาง 
เรียกว่า นิราศ 

แนวทางในการอ่านและพิจารณาวรรณคดีและวรรณกรรม
          ๑. ร้อยกรอง ควรพิจารณา ฉันทลักษณ์ การใช้ภาษา การใช้โวหารเปรียบเทียบ สัญลักษณ์ การอ้างถึงและความหมายหรือเจตนาที่ผู้แต่งต้องการถ่ายทอด
          ๒. ร้อยแก้ว ควรพิจารณาความรัดกุมของโครงเรื่อง ความงามในการใช้ภาษาและความชัดเจนของสัญลักษณ์ 

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2561

สำนวน


        
สำนวน

         สำนวน คือ ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นโดยมีความหมายพิเศษ ไม่ตรงกับความหมายที่ใช้ตามปกติ ทั้งนี้อาจจะเป็นคำที่มีความหมายโดยนัย หรือความหมายในเชิงเปรียบเทียบ เป็นลักษณะคำพูดที่รวมใจความยาว ๆ ให้กะทัดรัด บางสำนวนอาจหมายถึงสุภาษิตและคำพังเพยด้วย
          ตัวอย่าง
         


          กิ้งก่าได้ทอง ความหมาย คนเย่อหยิ่งจองหอง หรือลำพองตน เป็นการพูดติเตียนบุคคลผู้หลงผิดคิดว่าตนดีกว่าคนอื่น หรือคนที่มีฐานะด้อย เมื่อได้ดีแล้วลืมตัว ทำเย่อหยิ่งไม่นึกถึงคนที่เคยทำคุณแก่ตน



          ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง ความหมาย ความสวยงามเกิดขึ้นได้จากการปรุงแต่ง คนจะงามได้ก็ต้องแต่งตัวให้ดูดี





          กินน้ำใต้ศอก  ความหมาย  หญิงที่ได้สามี แต่ต้องตกไปอยู่ในตำแหน่งเมียน้อย หรือ ได้อะไรที่ไม่เทียมหน้าเทียมตาคนอื่นเขา


วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

คำพังเพย

       
   คำพังเพย

      คำพังเพย คือ เป็นคำเปรียบเทียบเรื่องต่าง ๆ เพื่อใช้ติชม ซึ่งสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อถือ และค่านิยม อันเป็นลักษณะของคนไทย เช่น ค่านิยมในการยกย่องผู้มีอาวุโส เคารพครูบาอาจารย์ และนิยมความสุภาพ  อ่อนโยน
          ตัวอย่าง




          ขว้างงูไม่พ้นคอ ความหมาย  ทำอะไรจะไม้พ้นปัญหา แต่แล้วผลร้ายกลับวกมาสู่ตัวเอง


          ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ความหมาย ผู้มีอำนาจมากกว่ากดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า




           น้ำกลิ้งบนใบบอน ความหมาย ใจโลเล ใจไม่แน่นอน เปลี่ยนไปอยู่เรื่อย ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

นิทานอีสป



นิทานอีสป

          เรื่อง กากับหงส์



          กาตัวหนึ่งอยากจะให้ขนตัวเองขาวสวยเหมือนกับหงส์มันเข้าใจว่าคงเพราะหงส์ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้น้ำได้อาบน้ำบ่อยๆจึงทำให้ขนขาวสะอาด ด้วยเหตุนี้กาจึงทิ้งเทวสถานอันเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่แสนอุดม ย้ายไปอยู่ริมสระ พยายามลงอาบและไซ้ขนอยู่เป็นนิตย์ แต่ขนของกาก็มิได้ขาวสะอาดขึ้น ยังคงดำสนิทอยู่เช่นเดิม อีกทั้งมันต้องอดอาหารที่เคยได้กินอย่างสมบูรณ์ ในไม่ช้ากาก็ถึงแก่ความตายนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จงพอใจในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงวิสัยของตนเป็นสิ่งที่เหลือจะทำได้

          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
จงพอใจในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงวิสัยของตนเป็นสิ่งที่เหลือจะทำได้

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561

นิทานพื้นบ้าน



นิทานพื้นบ้าน
      
       กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่




           ทอง เป็นชายหนุ่มนิสัยวู่วามเอาแต่ใจตนเอง วันหนึ่งเขาออกไปทำนาตั้งแต่เช้ามืด รออยู่จนสายไม่เห็นแม่นำข้าวมาส่งทำให้รู้สึกหงุดหงิดเพราะหิวจนแสบท้องคอยชะเง้อมองหา ครั้นดวงตะวันลอยสูงเกือบจะตรงศีรษะเห็นแม่ถือกล่องข้าวเดินกระย่องกระแย่งมาแต่ไกล ทองรีบลุกออกจากร่มไม้ตรงเข้าไปต่อว่าทันที
"แม่มัวทำอะไรอยู่ รู้หรือเปล่าว่าข้าหิวจวนจะเป็นลมอยู่แล้ว"
"อย่าโกรธเลยลูก" แม่หยุดยืนหอบหายใจถี่ๆด้วยความเหนื่อยเนื่องจากเดินฝ่าเปลวแดดมาเป็นระยะทางไกล
"แม่เป็นไข้ไม่ค่อยสบายพอลุกไหวก็รีบหุงข้าวหุงปลาแล้วเอามาให้เอ็งนี่แหละ"
"แล้วทำไมถึงเอาข้าวใส่กล่องใบเล็กนิดเดียวมาให้ข้า จะพอกินได้ยังไง"
"ถึงกล่องจะเล็ก แต่แม่ก็อัดข้าวมาแน่นนะลูก"
"พูดมากอยู่นั่นแหละ รีบส่งข้าวมาให้ข้าเร็วเข้า"
ทองกระชากกล่องข้าวมาจากมือจนแม่เสี่ยหลักล้มลง แต่ชายหนุ่มก็ไม่สนใจไยดี รีบเปิดกล่องข้าวกินอย่างหิวโหย เมื่ออิ่มแล้วจึงรู้ว่าแม่พูดจริงเพราะข้าวในกล่องยังเหลืออยู่อีกตั้งมาก ทองเห็นแม่นอนนิ่งไม่เคลื่อนไหวรีบเข้าไปดู ปรากฏว่าตนเองทำรุนแรงกับแม่ เข้าไปกอดศพร้องไห้รำพัน แต่แม่ของเขาก็ไม่มีวันฟื้นขึ้นมาได้อีกแล้ว